ข้อปฏิบัติตามมาตรฐานทางกฎหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศ

มีข้อพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2553 โจทก์เป็นบริษัทต่างประเทศในแถบยุโรป จำเลยเป็นบริษัทไทย ซึ่งจำเลยได้ขอให้สำนักงานกฎหมายคนึง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส เป็นตัวแทนในการต่อสู้คดีแทนทนายความชุดเดิม โจทก์ฟ้องเป็นคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ โดยขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งกำหนดไว้ว่าภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6466/2538 ที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถึงแม้นว่าเครื่องหมายการค้านั้นจะได้จดทะเบียนเกินห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วก็ตาม อีกทั้งยังได้อ้างอิงอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยความคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม Paris Convention for the Protection of Industrial Property (1967) ว่าหากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนนั้น ดำเนินการโดยไม่สุจริตไม่ว่าจะเป็นเวลานานเพียงใดก็สามารถฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนได้ จำเลยต่อสู้ว่าคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความในประเด็นดังกล่าว กล่าวคือได้ยื่นฟ้องขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเกินกว่าห้าปี นับแต่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียน จึงไม่สามารถขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
สำหรับข้อเท็จจริงในคดีมีว่านายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 ซึ่งครบกำหนดห้าปีในวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 โจทก์ยื่นฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 จึงเกินกว่าห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยความคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยความคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม และมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางกฎหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว แต่ Article 6 bis (3) แห่งอนุสัญญากรุงปารีสฯ ซึ่งบัญญัติว่า “No time limit shall be fixed for requesting the cancellation or the prohibition of the use of the marks registered or used in bad faith” หมายถึง คู่กรณีในประเทศภาคีสมาชิกสามารถร้องขอให้เพิกถอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในของประเทศ หากการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการโดยไม่สุจริตเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในส่วนของเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในลักษณะเดียวกันแก่เครื่องหมายการค้าทั่วไป เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยยืนยันว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และคดีไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ยังไม่พอแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โจทก์จึงไม่สามารถร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อพ้นเวลาห้าปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยอาศัยพันธกรณีของอนุสัญญาดังกล่าวได้ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6466/2538 ที่โจทก์อ้างถึงนั้น เป็นคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาการร้องขอต่อ ศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในลักษณะเดียวกับพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทคดีนี้ ทั้งข้อเท็จจริงแห่งคดีแตกต่างกัน กรณีจึงไม่อาจนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาเป็นแนวทางสำหรับการวินิจฉัยคดีนี้ได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนของจำเลย จึงพ้นระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว
ในทางพิจารณาของศาลได้คำนึงถึงพันธกรณีที่ประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาฯ จะต้องปฏิบัติตามาตรฐานทางกฎหมายของอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว ดังนั้นหากโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยยืนยันว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และคดีมีประเด็นเกี่ยวกับความมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งหากโจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบได้เพียงพอแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป คำพิพากษาของศาลที่วินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ขอเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยพ้นระยะเวลาตามกฎหมายแล้วนั้นอาจจะเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งก็เป็นได้
ดังนั้น อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกจึงเป็นข้อกฎหมายที่จะละเลยไม่ได้โดยเฉพาะในการดำเนินคดีในศาลชำนัญการพิเศษอย่างเช่นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ